วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เปลี่ยนหรือไม่ ใคร่คิดดู 2


เรียนผู้อ่านทุกท่าน บทความเรื่อง เปลี่ยนหรือไม่ ใคร่คิดดู 2 ก่อนจะเกิดขึ้นนั้น ได้มีบทความ เปลี่ยนหรือไม่ ใคร่คิดดู มาก่อนแล้ว และนั่นก็เป็นครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นได้กล่าวถึงชิ้นส่วนอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ แบตเตอรี่, ยางแท่นเครื่อง, แท่นเกียร์ และยางล้อรถยนต์ เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วมีความเข้าใจในตัวชิ้นส่วนมากยิ่งขึ้น ว่าทำไมต้องเปลี่ยน การแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่บริการก็มีความเข้าใจที่ตรงกันอีกด้วย ชิ้นส่วนทุกชิ้นส่วนย่อมมีอายุการใช้งานอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ณ โอกาสนี้ ก็มีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ น้ำมันเบรก, น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ และน้ำมันเกียร์ ขอเริ่มเลยละกันนะครับ

น้ำมันเบรก
เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญมากต่อรถยนต์ ถ้าน้ำมันเบรกไม่ดี จะส่งผลต่อประสิทธิภาพต่อการเบรก และชิ้นส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบเบรก นอกจากนั้น อาจนำพาไปสู่เรื่องของอุบัติเหตุได้ ดังนั้น น้ำมันเบรกจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 40,000 กิโลเมตร ตามระยะทางที่กำหนดครับ

ไม่เปลี่ยน - การส่งถ่ายแรงเบรกด้อยลง
เปลี่ยน - การไหลของน้ำมันเบรกได้เต็มที่ และรวดเร็ว
ไม่เปลี่ยน - การคืนตัวของผ้าเบรกช้า
เปลี่ยน - ผ้าเบรกคืนตัวได้เร็วหลังจากถอนเท้าออกจากคันเหยียบเบรก
ไม่เปลี่ยน - แม่ปั้มเบรก, ลูกยางเบรก ชำรุด(รั่ว) เร็วกว่าที่ควรเป็น
เปลี่ยน - ชิ้นส่วนเสียหายช้า ประหยัดเงินในการซ่อม
ไม่เปลี่ยน - กระบอกเบรก เกิดเป็นตามด ไม่สามารถซ่อมได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งลูก (ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น)
เปลี่ยน - กระบอกเบรก ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์
ไม่เปลี่ยน - ใช้แรงในการเบรกมากกว่าที่ควรจะเป็น
เปลี่ยน - แรงที่ใช้ในการเหยียบเบรกเหมือนปกติ
ไม่เปลี่ยน - เกิดฟองอากาศในระบบเบรกง่ายขึ้น อาการเบรกจมหายง่ายขึ้น
เปลี่ยน - โอกาสที่เบรกจมหายในระบบจะไม่เกิดขึ้น

น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์
จะต้องมีการเปลี่ยนเหมือนน้ำมันทั่วๆไป บางท่านอาจมองข้ามกันไปว่า ไม่สำคัญเท่าไหร่ อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะว่า หากไม่เปลี่ยนตามระยะทางที่กำหนด จะนำพาหรือเป็นเหตุให้ชิ้นส่วนอื่นเสียหายมากขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้ประสิทธิภาพในการบังคับเลี้ยวด้อยลง การเปลี่ยนถ่ายก็ทุกๆ 40,000 กิโลเมตร ดังนั้น เรามาลองทำความเข้าใจกันครับ

ไม่เปลี่ยน - ชิ้นส่วนต่างๆ จะมีการชำรุดสึกหรอ ง่ายขึ้น
เปลี่ยน - อายุการใช้งานของชี้ยาวนาน
ไม่เปลี่ยน - หากมีการชำรุด แล้วมีการซ่อม ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ใช้เวลาก็มาก
เปลี่ยน - ประหยัดเงิน และ เวลาได้มาก
ไม่เปลี่ยน - เกิดเสียงดังเวลาปั้มเพาเวอร์ทำงาน
เปลี่ยน - ไม่เกิดเสียงดังแต่อย่างใด
ไม่เปลี่ยน - การส่งถ่ายแรงในการบังคับเลี้ยว ได้ไม่เต็มที่
เปลี่ยน - การบังคับเลี้ยวเป็นไปอย่างสมบูรณ์
ไม่เปลี่ยน - ปั้มเพาเวอร์มีการทำงานหนักมากขึ้น การสึกหรอย่อมสูงขั้น
เปลี่ยน - การทำงานของปั้มเพาเวอร์ทำงานเป็นปกติ การใช้งานนาน
ไม่เปลี่ยน - หากมีการรั่วแล้วเลอะเทอะบนถนน ผู้ร่วมใช้เส้นทางเกิดอุบัติเหตุได้
เปลี่ยน - ปัญหาของอุบัติเหตุที่เกิดจากรถยนต์ของเรา จะไม่เกิดขึ้น

น้ำมันเกียร์ (ธรรมดา, อัตโนมัติ)
เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญชิ้นหนึ่ง จำเป็นจะต้องมีการบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนถ่ายตามระยะทางที่กำหนด ซึ่งแต่ละรุ่นแต่ละแบบจะแตกต่างกันไป อย่างไรแล้วท่านผู้อ่านศึกษาได้จากคู่มือการใช้รถยนต์ของท่าน แต่ถ้าไม่มีคู่มือการใช้รถก็สามารถสอบถามไปยังแผนกบริการ รถยนต์รุ่นนั้นๆได้อีกทางหนึ่ง น้ำมันเกียร์เหมือนกับน้ำมันอื่นๆ ดังนั้น หากไม่ปฏิบัติอาจส่งผลถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้

ไม่เปลี่ยน - ชิ้นส่วนของเกียร์มีการสึกหรอสูงขึ้นกว่าปกติ
เปลี่ยน - ชิ้นส่วนของเกียร์มีการใช้งานยาวนาน
ไม่เปลี่ยน - การรั่วของน้ำมันเกียร์ผ่านทางชิ้นส่วนต่างๆง่ายขึ้น
เปลี่ยน - การรั่วของน้ำมันเกียร์ผ่านซีลช้าขึ้น
ไม่เปลี่ยน - การระบายความร้อนของตัวเกียร์ไม่ดี (กว่าที่ควรจะเป็น)
เปลี่ยน - การถ่ายเทความร้อนของตัวเกียร์ดีเป็นปกติ
ไม่เปลี่ยน - การไหลลื่นของเกียร์ด้อยลง
เปลี่ยน - การไหลลื่นของเกียร์เป็นไปอย่างสมบูรณ์
ไม่เปลี่ยน - ในการเลื่อนเข้าเกียร์ยาก
เปลี่ยน - การเลื่อนเข้าเกียร์นุ่มนวล
ไม่เปลี่ยน - กินเชื้อเพลิงมากขึ้น สำหรับเกียร์อัตโนมัติ
เปลี่ยน - อัตราเร่งดี การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยลง
ไม่เปลี่ยน - หากมีการซ่อมชุดเกียร์ จะมีค่าใช้จ่ายและเวลาที่มาก
เปลี่ยน - การที่จะมีการซ่อมเกียร์ยากมาก ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับความเข้าใจในครั้งนี้ หากผู้ขับขี่พบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งก็แสดงว่ามีการขัดข้องเกิดขึ้น ก็ให้รีบตรวจสอบโดยด่วน คงไม่มีใครไม่รักรถนะครับ ข้อกำหนดต่างๆที่อยู่ในคู่มือการใช้รถนั้น ถือว่าเป็นมาตรฐานในการดำเนินการปฏิบัติครับ หลายท่านอาจจะไม่นำรถเข้าศูนย์บริการแล้ว ก็ให้คำนึงถึงตามที่กล่าวมาด้วยครับ ท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านใช้รถยนต์อย่างมีความสุขและคุ้มค่าสูงสุดครับ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น